อากาศร้อน ภัยจากแสงแดด
สุขภาพและผิวพรรณ
ฤดูร้อน (Summer) ในประเทศไทยเริ่มประมาณช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ – กลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งช่วงเวลานี้อากาศจะร้อนอบอ้าวมากๆ โดยเฉพาะในช่วงประมาณกลางเดือนเมษายน ในบางพื้นที่อุณหภูมิอาจสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาและมีพายุฤดูร้อน (Summer Storm) ร่วมด้วย อากาศที่ร้อนมากๆสามารถทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรค (Heat Stroke) ได้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดช่วงเวลา 10.00 - 14.00 น. เนื่องจากแสงแดดในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง รังสียูวี (UV) จากแสงแดดช่วงเวลา 10.00 - 14.00 น. มีความเข้มข้นสูงมากเป็นพิเศษ จนสามารถแผดเผาเซลล์ผิวหนังให้เสียหายและผิวอาจถูกทำลายได้ง่ายๆ ภัยจากแสงแดดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและผิวพรรณมีดังนี้
1. ผิวไหม้ โรคผิวหนัง และมะเร็งผิวหนัง หากมีการตากแดดนานๆ จะทำให้ผิวได้รับรังสียูวี (UV) เกินขนาด จนทำให้เส้นเลือดที่ไหลเวียนมาที่เซลล์ผิวถูกรังสียูวี (UV) ทำลาย เป็นสาเหตุให้ผิวมีสีแดงจัดและเกิดการไหม้เกรียมในเวลาต่อมา และทำให้เกิดโรคผิวหนังและโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคลมพิษจากแสงแดด โรคเอสแอลอี (SLE) และโรคติดเชื้อเริม เป็นต้น ในแสงแดดมีสารกระตุ้นมะเร็ง เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดจัดๆโดยตรงเป็นเวลานาน รังสียูวี (UV) จะทำลายดีเอ็นเอ (DNA) จนทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
2. เซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย หลังจากถูกแดดเผาเป็นเวลานาน และผิวถูกรังสียูวี (UV) ทำร้ายซ้ำบ่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ช่วยป้องกันและต่อต้านสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายก็จะอ่อนแอลง ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น
3. กระจกตาอักเสบ โรคต้อกระจก และโรคต้อเนื้อ การอยู่กลางแจ้งแสงแดดจ้าเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมสภาพลงได้ รังสียูวี (UV) จะมีผลทำให้กระจกตาอักเสบ เกิดอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสงและตาแดง เลนส์ที่แก้วตาจะเริ่มขุ่นมัวทำให้การมองเห็นไม่เป็นปกติ และเกิดการเสื่อมของเยื่อบุตา จนเกิดเป็นปัญหาทางด้านสายตาตามมาในอนาคต
4. ผิวพรรณ จุดด่างดำ กระและฝ้า รังสียูวี (UV) สามารถเข้าไปทำลายคอลลาเจน (Collagen) ในเซลล์ผิวและเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดปัญหาริ้วรอย จุดด่างดำ ความหมองคล้ำ เกิดร่องรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ลำคอและบริเวณนอกร่มผ้า รังสียูวีเอ (UVA) จากแสงแดดเป็นปัจจัยหลักตัวนึงที่ทำให้เกิดกระและฝ้าที่บริเวณโหนกแก้ม สันจมูก และริมฝีปาก รังสียูวี (UV) จะไปกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radical) ขึ้นที่ชั้นผิวหนังและอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้จะไปกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ให้สร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) เพิ่มมากขึ้น ผิวก็จะยิ่งมีสีเข้มขึ้น เป็นรอยจุดเล็กๆ สีผิวไม่สม่ำเสมอกันเรียกว่ากระ หรือขยายวงกว้างเป็นปื้นๆ เรียกว่าฝ้านั่นเอง
ประเทศไทยมีแนวโน้มสภาพอากาศจะร้อนขึ้นและแสงแดดจะแรงกล้ามากขึ้นทุกที เพื่อป้องกันผลกระทบอันอาจจะเกิดจากแสงแดด จึงควรหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว น้ำดื่มควรเป็นน้ำกลุ่มโมเลกุลเล็ก สะอาดปราศจากเชื้อแบคทีเรียและคงไว้ซึ่งแร่ธาตุ ผ่านการกรองด้วยเครื่องกรองน้ำที่ได้รับรางวัลมาตรฐานการกรองทั้งระบบจากองค์กร NSF หากต้องทำงานในสถานที่กลางแจ้งหรือร้อนจัด ควรสวมเสื้อผ้าแขนยาวปกปิด เนื่องจากร่างกายต้องสูญเสียน้ำจากการเสียเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ควรชดเชยด้วยการดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร เพื่อช่วยดับกระหายและลดอุณหภูมิภายในร่างกาย
อย่างไรก็ตามแม้กระทั่งในร่ม ในอาคารบ้านเรือนหรือในห้องทำงาน ไอแดดและรังสียูวี (UV) ยังสามารถทะลุผ่านผนังและกระจกมาสู่ตัวเราได้ ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการดูแลสุขภาพของผิวพรรณคือ การทาครีมกันแดดอย่างเป็นประจำ ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF (Sun- Protection Factor) 30 - 50 ขึ้นไป ทาอย่างน้อย 15 - 30 นาทีก่อนออกแดด ในบางกรณี เช่น ไปเที่ยวทะเล ควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรทาครีมกันแดดที่สามารถปกป้องได้ทั้งรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) หรือเป็นครีมกันแดดที่ปกป้องได้ทุกคลื่นรังสี (Broad Spectrum UV Protection) สำหรับผิวหน้าควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากรังสียูวี (UV) ทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ เกิดริ้วรอย ความเหี่ยวย่นก่อนวัย ควรเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่มีดีมีคุณภาพและผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐาน เป็นครีมกันแดดกายภาพซึ่งปราศจากสารเคมีเจือปน มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ใช้แล้วไม่เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิว ก็จะช่วยปกป้องผิวหน้าจากการคุกคามของแสงแดดได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือเส้นผม รังสียูวี (UV) ทำให้เซลล์ผิวหนังบนศีรษะเสื่อมสภาพ มีผมขาวก่อนวัย และสุขภาพของเส้นผมอ่อนแอ ควรดูแลเส้นผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ บำรุงลึกตั้งแต่โคนจรดปลายผม ทำให้หนังศีรษะและเส้นผมไม่มัน เส้นผมแข็งแรง คงความนุ่มสลวยสวยอย่างเป็นธรรมชาติ
อ้างอิง : บทความเพื่อสุขภาพ
1) แสงแดดในหน้าร้อน อันตรายกว่าที่คิด โดย HonestDocs
2) การดูแลผิวช่วงฤดูร้อน โดย พ.ญ.นันทพัฒน์ ชิติรัตนทรีย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเลเซอร์ โรงพยาบาลหัวเฉียว
3) 5 ข้อ ของครีมกันแดด ที่สาวๆ มักใช้ผิด โดย LINE TODAY