ภาวะหัวใจโต 
ภาวะหัวใจโตเป็นความผิดปกติของหัวใจที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง จึงส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้รู้สึกหายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
หัวใจโต (Cardiomegaly หรือ Enlarged Heart) คือ ภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนากว่าปกติ โดยทั่วไปมักเรียกว่า “ภาวะหัวใจโต” เพราะขนาดของหัวใจปกตินั้นจะเท่ากับกำปั้นของคนเรานั่นเอง หัวใจโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มาจากความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ และสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่องได้
หัวใจโตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- หัวใจโตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม หรือนักเพาะกาย มักมีกล้ามเนื้อที่ใหญ่ขึ้น และกล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมาก ๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูงหรือลิ้นหัวใจตีบ ก็สามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นได้
- หัวใจโตจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ไม่ดี มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมาก จึงทำให้หัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นได้จากโรคหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น
อาการ
หากหัวใจมีการทำงานที่ผิดปกติจะเกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่ หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจเร็ว เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย ใจสั่น ไอโดยเฉพาะเวลานอน บวมบริเวณเท้าตอนสาย ๆ นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก
สาเหตุ
- ความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หัวใจทำงานหนัก ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมาก
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือโรคภาวะน้ำในเยื้อหุ้มหัวใจผิดปกติ
- ผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ ทั้งลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวในรั่ว
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น ผนังหัวใจรั่ว
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผู้ที่มีภาวะความดันหลอดเลือดในปอดสูง
- ผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป
- ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางหรือซีดเป็นเวลานาน
- ผู้ที่รับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปจนทำให้เกิดโรค Hemochromatosis
- มีโปรตีนสะสมในกล้ามเนื้อหัวใจ หรือที่เรียกว่า Amyloidosis
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความผิดปกติของไขมันในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่อง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Cardiomyopathy เช่น ผู้ที่ดื่มสุราต่อเนื่องเป็นเวลานานกล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายทำให้หัวใจโต
นอกจากนี้อาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้น เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน แต่อาการภาวะหัวใจโตอาจจะไม่ชัดเจน ในบางรายอาจรู้สึกถึงความผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่จะมีอาการเหล่านั้นเป็นเวลานาน
การรักษา
ภาวะหัวใจโตนั้น หากตรวจพบในระยะแรก ๆ ก็อาจยังสามารถรักษาได้ แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการของภาวะหัวใจโตต่อเนื่อง อาจมีความเสี่ยงสูงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากภาวะหัวใจโตที่ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น เกิดภาวะหัวใจเล้มเหลว เกิดลิ่มเลือดในเยื่อบุหัวใจ เป็นต้น โดยการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่ต้นเหตุและให้ยารักษาตามอาการ เพื่อประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลง เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมักใช้ในกรณีที่มีอาการบวม ยาลดความดันและรักษาอาการหัวใจวาย และยาที่ใช้ในกรณีหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังมีการรักษาอื่น ๆ ที่อาจมีความจำเป็น เช่น สำหรับผู้ที่หัวใจเต้นผิดปกติ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือการผ่าตัด ใช้ในผู้ที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
การป้องกัน
- ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือมีความเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักตัวมาก มีภาวะอ้วน ไม่ได้ออกกำลังกาย และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงต้องรับประทานยา และปฏิบัติตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด
- ผู้มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว (พันธุกรรม) ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
- รักษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวัง
อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบความผิดปกติหรือสงสัยอาการเข้าข่าย ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัย เนื่องจากสุขภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจสายเกินแก้ได้
สามารถติดตามบทความใหม่ ๆ ได้ที่ https://www.japin.co.th
เรียบเรียงโดย bibomom
ที่มา
Vichaivej Nongkhaem Hospital
Vejthani Hospital
Paolo Hospital