อาหารควรเลี่ยงสำหรับคนเป็น “กรดไหลย้อน” 
ด้วยวิธีชีวิตของคนในปัจจุบันที่ต้องตื่นแต่เช้าออกไปทำงาน และกลับถึงบ้านตอนดึก หรือบางคนอาจทำงานตอนกลางคืน นอนตอนกลางวัน จึงรับประทานอาหารไม่ค่อยตรงเวลา อาหารมื้อเย็นกลายเป็นอาหารมื้อดึก ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ และกระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ง่าย ในบางรายอาจเป็นหนักจนทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
กรดไหลย้อนเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมกับกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ มีอาการหย่อนยานหรืออาจเสื่อมสภาพ จึงไม่สามารถปิดกั้นน้ำย่อย กรด หรืออาหารต่าง ๆ ในกระเพาะไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนหน้าอก หรือแน่นหน้าอก บางรายอาจรู้สึกจุกบริเวณคอ นอนราบไม่ได้ และมีอาการเปรี้ยวและขมที่คอร่วมด้วย
อาหารที่เรารับประทานเข้าไปและมีปริมาณที่มากจนเกินไป มักเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากอาหารบางอย่างทำให้เกิดกรดหรือแก๊สในกระเพาะอาหาร ซึ่งผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวควรให้ความสำคัญและควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น เพื่อลดอาการและทำให้โรคสงบลง
อาหารควรเลี่ยงสำหรับคนที่เป็นกรดไหลย้อน
- อาหารไขมันสูง เช่น ของทอด ของมัน ช็อกโกแลต ฟาสต์ฟู้ด และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม คุกกี้ หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น อาหารเหล่านี้จะไปรวมกับกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุก แน่น หรือร้อนที่กลางอกได้
- อาหารที่มีกรดและแก๊สมาก เช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด และถั่ว อาหารเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำย่อยมากยิ่งขึ้น
- น้ำส้มสายชู เป็นเครื่องปรุงรสที่มีกรดมาก หากมีการเติมในอาหารและรับประทานเข้าไป ก็จะเป็นการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นไปอีก
- เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้กรดหลั่งมากขึ้น ทำให้หูรูดปิดตัวผิดปกติ
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ สุรา ไวน์ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด มีฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารเปิดออก ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
- ผลไม้ที่มีกรดมาก เช่น ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัด รวมไปถึงซอสมะเขือเทศด้วย
- ผักที่มีกรดแก๊สมาก เช่น หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม พริก พริกไทย หอมแดง เปปเปอร์มินต์ หรือสะระแหน่ รวมทั้งผักดิบทุกชนิดก็ควรเลี่ยง เพราะผักเหล่านี้จะไปเพิ่มกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก
- อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ ซูชิบางชนิดที่มีผักดอง ล้วนมีส่วนเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง
- อาหารเสริมไขมันสูง เช่น น้ำมันตับปลา สารสกัดจากกระเทียม วิตามินอี หรือวิตามินซี อาหารเหล่านี้ก็สามารถเพิ่มกรดในกระเพาะได้เช่นกัน
- หมากฝรั่ง การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นการเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้เราต้องกลืนน้ำลายลงท้องมากขึ้น เท่ากับว่าได้กลืนลมลงกระเพาะอาหารมากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่งบ่อย ๆ
วิธีป้องกันกรดไหลย้อน
- ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่รีบเร่ง เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของกระเพาะอาหาร
- งดรับประทานอาหารปริมาณมาก หรือมื้อหนัก ๆ เพื่อไม่ให้กระเพาะทำงานหนักเกินไป
- เว้นระยะ 3-4 ชั่วโมง หลังมื้ออาหาร ก่อนเข้านอน เพื่อให้อาหารได้เคลื่อนตัวจากกระเพาะไปสู่ลำไส้และถูกดูดซึมต่อไป
- ปรับเปลี่ยนอาหารมื้อเย็น เป็นเน้นรับประทานผักผลไม้ที่ย่อยง่ายแทน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
สามารถติดตามบทความใหม่ ๆ ได้ที่ https://www.japin.co.th
เรียบเรียงโดย bibomom
ที่มา
Rama Channel
Phyathai Hospital
Kapook