ทำความรู้จัก ฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเพศหญิง 
ฮอร์โมนในร่างกายของคนเรามีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีบทบาทหน้าที่และความสำคัญแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่มีหน้าที่ในการสร้างและพัฒนาเซลล์และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย ฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormone) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อุณหภูมิ และระดับไขมันในเลือด ฮอร์โมนความเครียด หรือคอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนความสุข หรือเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) รวมถึงฮอร์โมนเพศซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้ชายและผู้หญิง และเราไปทำความรู้จักกับฮอร์โมนประเภทนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ
ฮอร์โมนเพศ เป็นสารเคมีที่ถูกผลิตขึ้นโดยต่อมหมวกไตและอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงรังไข่ในเพศหญิงและอัณฑะในเพศชาย และถูกลำเลียงไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกายตามกระแสเลือด เพื่อช่วยควบคุมกระบวนการทำงานต่าง ๆ เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย กระดูกและกล้ามเนื้อ การนอนหลับ ความอยากอาหาร และพฤติกรรม โดยฮอร์โมนเพศจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางเพศและการสืบพันธุ์ ความต้องการทางเพศ ปฏิกิริยาการอักเสบ การควบคุมระดับคอเลสเตอรอล การกระจายไขมันในร่างกาย และการเจริญเติบโตของเส้นผม
ฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนเพศหญิง
- เทสโทสเตอโรน (Testosterone)
เทสโทสเตอโรน คือ “ฮอร์โมนเพศชาย” ซึ่งจะถูกสร้างออกมาจากอัณฑะ โดยใช้คอเลสเตอรอลในการสังเคราะห์ ดังนั้นไขมันจึงมีความจำเป็นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนชนิดนี้ แต่ปริมาณฮอร์โมนของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนร่างกายอาจผลิตเทสโทสเตอโรนออกมาสูง บางคนอาจจะผลิตออกมาต่ำ ซึ่งจะมีผลกับร่างกายหลายอย่าง เทสโทสเตอโรนจะทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เป็นชายเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม เช่น มีกล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น มีหนวด เครา ขน เสียงแตก เสียงทุ้ม มีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ มีการสร้างเชื้ออสุจิ มีลักษณะกล้ามเนื้อและกระดูกที่ใหญ่ และแข็งแรง ถ้าฮอร์โมนชนิดนี้ทำงานปกติ ร่างกายก็จะมีพัฒนาการที่ปกติไปตามช่วงวัย แต่ถ้ามีฮอร์โมนเพศชายต่ำ ในเด็กจะมีการพัฒนาเป็นเพศชายที่ไม่สมบูรณ์ และเมื่อก้าวสู่วัยผู้สูงอายุฮอร์โมนนี้ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีผลกับกล้ามเนื้อ มวลกระดูก กระดูกบางง่าย และอวัยวะเพศไม่แข็งตัว
เทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่สำคัญมากสำหรับเพศชาย เพราะจะไปกระตุ้นให้แสดงลักษณะความเป็นเพศชายออกมา ทำให้ผู้ชายมีรูปลักษณ์ อารมณ์ นิสัย หรือพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากผู้หญิง เช่น ชอบเอาชนะ ชอบการแข็งขัน รักสนุก ชอบความท้าทาย สนใจเพศตรงข้ามมากขึ้น คิดถึงเรื่องเพศ มีความต้องการ แต่ในขณะเดียวกันฮอร์โมนนี้ก็สามารถทำให้ผู้ชายเกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หดหู่ และซึมเศร้าได้เช่นกัน ดังนั้นการมีฮอร์โมนนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะช่วยให้ร่างกายมีพัฒนาการเป็นไปตามปกติ
แต่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไม่ได้มีแต่ในเพศชายเท่านั้น ในเพศหญิงก็มีการสร้างฮอร์โมนชนิดนี้ออกมาจากต่อมหมวกไต แต่จะมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายมาก จึงทำให้ไม่สามารถแสดงลักษณะของเพศชายให้โดดเด่นออกมาได้ ยกเว้นในผู้หญิงบางรายที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ก็อาจจะมีเสียงห้าวกว่าผู้หญิงทั่วไป มีขนดก มีนิสัยห่าม ๆ กล้าหาญ คล้าย ๆ ผู้ชายได้เหมือนกัน
วิธีเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเน้นอาหารที่มีสังกะสี (Zinc) ซึ่งจะช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย เช่น หอยนางรม อาหารทะเล ตับ เนื้อวัว ผักใบเขียวเข้ม และผลไม้ต่าง ๆ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเสริมกล้ามเนื้อและความแข็งแกร่ง รวมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอด้วย
- เอสโตรเจน (Estrogen)
เอสโตรเจน คือ “ฮอร์โมนเพศหญิง” ซึ่งถูกสร้างออกมาจากต่อมหมวกไตและรังไข่ ฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เล็กจนโตในลักษณะเป็นหญิง มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้นตามช่วงวัย เช่น มีเต้านม สะโพกผาย มีสัดส่วนโค้งเว้า ผิวเปล่งปลั่ง มีประจำเดือน การผลิตไข่ การตกไข่ และช่วยในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยเสริมสร้างเซลล์ให้เจริญเติบโต ซ่อมแซมระบบสืบพันธุ์ รักษาสภาพผนังช่องคลอด ควบคุมเมือกในช่องคลอดเพื่อป้องกันการอักเสบ ทำให้ไข่ในรังไข่เจริญเติบโต ควบคุมการตกไข่ กระตุ้นการหนาตัวของเยื่อบุผนังมดลูกชั้นใน เพื่อรองรับการปฏิสนธิร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังช่วยในเรื่องความจำ ควบคุมการสร้างคอเลสเตอรอล เป็นตัวช่วยไม่ให้เกิดเมือกไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยลดภาวะกระดูกพรุน และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นหากร่างกายมีเอสโตรเจนมากเกินไป ก็จะทำให้ไขมันสะสมได้มากขึ้น ทำให้อ้วนง่าย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด
เอสโตรเจนจะถูกผลิตขึ้นมาจากรังไข่ แล้วกระจายไปตามกระแสเลือด ส่งต่อไปตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อรูปร่าง นิสัย อารมณ์ และความรู้สึกเพศหญิง คือ มีอารมณ์อ่อนหวาน อ่อนไหวง่าย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สม่ำเสมอ ขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาตามรอบของประจำเดือน ถ้าร่างกายมีเอสโตรเจนต่ำเกินไป ก็จะมีรูปร่างผอม ไร้ทรวดทรง ส่วนเว้าส่วนโค้งไม่ค่อยมี ผิวพรรณไม่เปล่งปลั่ง ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่องคลอดบางและหย่อนยาน มดลูกฝ่อลีบ เต้านมมีขนาดเล็กลง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน เพราะร่างกายสูญเสียแคลเซียมไปทีละน้อย
และถ้าหากเอสโตรเจนลดลงตามกลไกของร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนในช่วงวัย 45-50 ปี มีความเสี่ยงที่กระดูกจะบางมากขึ้น เพราะมวลกระดูกลดลง กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง และมีภาวะเข้าสู่วัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ รู้สึกหงุดหงิด หมดอารมณ์ทางเพศ หนาวสั่นง่าย และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ผิวแห้งเหี่ยวย่น มีริ้วรอย หน้าอกหย่อนยาน ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้ คันช่องคลอด ผมร่วง ฯลฯ
วิธีการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีเอสโตรเจนสูงเป็นประจำ เช่น น้ำมะพร้าว ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และรับประทานฮอร์โมนเสริม เพื่อลดอาการวัยทอง รวมทั้งควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอด้วย
- โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
โปรเจสเตอโรนเป็นอีกหนึ่งฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญมาก ซึ่งถูกสร้างออกมาจากรังไข่และรก และจะทำงานร่วมกันกับเอสโตรเจน มีหน้าที่สำคัญคือช่วยกระตุ้นให้เยื่อบุผนังมดลูกชั้นในหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ โดยเอสโตรเจนนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้มดลูกขยายและพร้อมจะหดรัดตัว ส่วนโปรเจสเตอโรนจะไปยับยั้งไม่ให้มดลูกรัดตัวมากจนเกินไป เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่มดลูกได้ และโปรเจสเตอโรนจะยังคงระดับสูงไว้ตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อรักษาไม่ให้มดลูกเกิดการบีบตัว
นอกจากนี้ โปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนยังช่วยกันควบคุมการตั้งครรภ์ในช่วงแรก ๆ เช่น ปรับสภาพเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการฝังตัวของตัวอ่อนได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยสะสมไขมันให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เพื่อให้มีพลังงานและสารอาหารเลี้ยงทารก รวมทั้งช่วยทำให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้น เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารกหลังคลอด รวมทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้น เพื่อสูดเอาออกซิเจนเข้าปอดมาก ๆ จึงทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ และรู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดแข้งปวดขา เพราะฮอร์โมนจะไปทำให้กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อยืดขยายนั่นเอง
แต่ถ้าหากไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนหรือไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ระดับโปรเจสเตอโรนก็จะลดลง และเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นทุก ๆ เดือน โดยระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนี้ จะมีปริมาณสูงสุดประมาณวันที่ 21-23 ของรอบเดือน (หลังตกไข่ 1 สัปดาห์) และจะลดลงต่ำสุดประมาณวันที่ 1-9 ของรอบเดือน
โดยปกติแล้ว ด้วยกลไกของร่างกายจะผลิตฮอร์โมนออกมาไปจนถึงอายุ 50 ปีปลาย ๆ และจากนั้นฮอร์โมนจะค่อย ๆ ผลิตน้อยลง หรือที่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะวัยทอง (ทั้งชายและหญิง) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น นอนไม่หลับ เหงื่อออกง่าย ผิวแห้งเหี่ยว กระดูกพรุน ร้อนวูบวาบ น้ำหนักขึ้น เป็นต้น รวมทั้งลักษณะนิสัยก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน เกิดความรู้สึกเบื่อหนาย เหงา หรือซึมเศร้า เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ฮอร์โมนทั้งเพศชายและเพศหญิงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ ดังนั้นควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาระดับสมดุลของฮอร์โมน
สามารถติดตามบทความใหม่ ๆ ได้ที่ https://www.japin.co.th
เรียบเรียงโดย bibomom
ที่มา
Phyatha Hospital
MW Wellness
Kapook Health
Klaire Medical Center