ใบเตย พืชมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ใบเตยเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว และเป็นวัตถุดิบหลักในการทำขนมหวานของไทยมาช้านาน ซึ่งเราต่างก็รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นขนมลอดช่อง ขนมชั้น เปียกปูน หรือขนมอื่น ๆ ล้วนมีส่วนประกอบที่สำคัญเป็นใบเตยทั้งสิ้น เพราะมีกลิ่นหอมและช่วยให้ขนมมีสีสันสวยงาม และใบเตยก็ไม่ได้มีดีแค่กลิ่นที่หอมหรือใช้ทำขนมหวานเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์และสรรพคุณอีกมากมายหลายอย่างด้วย ซึ่งในบทความนี้เรามีข้อมูลมาบอกให้ทราบกันค่ะ 

ทำความรู้จัก “เตย”

เตย / ต้นเตย / เตยหอม (Pandan) หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “ใบเตย” เป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นข้อ ใบเลี้ยงเดี่ยว เรียวยาว สีเขียวอ่อน-เข้ม เป็นมัน เรียงสลับขึ้นไปถึงยอดต้น พืชชนิดนี้จะชอบน้ำมาก มักงอกงามในดินร่วนชื้นแฉะ ภายในใบเตยนั้นมีน้ำมันหอมระเหยเช่นเดียวกับที่พบในข้าวหอมมะลิ  จึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก และด้วยคุณสมบัติในเรื่องกลิ่นนี้ จึงนิยมนำใบเตยมาทำอาหารทั้งคาวและหวาน และทำเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมทั้งนำสีเขียวที่ได้จากส่วนใบไปใช้แต่งสีสันอาหารให้ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น 

นอกจากคุณสมบัติที่ให้กลิ่นหอมและสีสันสวยงามแล้ว ใบเตยยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินและแร่ธาตุหลายอย่าง เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส เบตาแคโรทีน ไนอะซีน และมีใยอาหารสูง รวมทั้งมีสรรพคุณทางยาต่อร่างกายด้วย 

ประโยชน์และสรรพคุณ

  • ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน รวมถึงเครื่องดื่มต่าง ๆ
  • ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ใบเตยมีฤทธิ์ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่ภาวะปกติ
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใบเตยช่วยทำให้ไตและกระเพาะปัสสาวะเย็นลง จึงช่วยทำให้เกิดการขับปัสสาวะขึ้น
  • ใช้รักษาโรคเบาหวาน ทั้งรากและใบ มีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้
  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง เตยช่วยทำให้อวัยวะต่าง ๆ เย็นลง หลอดเลือดเย็นลง จึงช่วยลดความดันโลหิตสูง
  • ช่วยบำรุงสมอง ระบบประสาท ทำให้สดชื่น ตื่นตัว
  • ช่วยรักษาโรคหัดหรือโรคผิวหนัง และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่บริเวณผิวหนังได้ด้วย (พอกผิวหนัง)
  • ช่วยดับกระหาย คลายร้อน แก้ร้อนใน ช่วยให้ชุ่มคอ และหอมชื่นใจ
  • ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ช่วยชูกำลัง
  • ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บหรือหลังจากการหายป่วย
  • ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย
  • ช่วยแก้อาการเป็นไข้ ดับพิษไข้
  • ช่วยบรรเทาโรคข้อและโรครูมาตอยด์
  • ช่วยแก้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • มีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ช่วยต้านการอักเสบต่าง ๆ
  • มีสารต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลดีต่อร่างกาย
  • ช่วยบำรุงหน้าและผิวพรรณให้ผ่องใส (พอก)
  • ใช้ขจัดรังแค
  • ใช้เป็นยาย้อมผมให้ดำ (น้ำต้มใบเตยผสมกับน้ำลูกยอ)
  • ใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนผสมของน้ำยาปรับอากาศ
  • ใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว แชมพู สบู่ และครีมนวดผม
  • ใช้เพื่อดับกลิ่นเหม็นอับและสร้างบรรยากาศภายในรถยนต์หรือในบ้าน เช่น ตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า ห้องน้ำ ห้องรับแขก เป็นต้น 

ใบเตยกับอาหารนานาชนิด

เนื่องจากใบเตยมีน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ซึ่งสารที่ทำให้มีกลิ่นหอมนั้นก็คือ “คูมาริน” (Coumarin) และเอทิลวานิลลิน (Ethyl Vanillin) และจากใบที่มีสีเขียวเข้ม จึงอุดมไปด้วยสารคลอโรฟิลล์เป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาคั้นก็จะได้สีเขียวสดข้นสวย ใช้เพื่อแต่งสีแต่งกลิ่นในอาหารต่าง ๆ หลายอย่าง ดังนี้ 

  • ขนมหวาน เช่น วุ้นใบเตย สังขยาใบเตย ลอดช่องใบเตย ขนมชั้นใบเตย ขนมตะโก้ ข้าวเหนียวมูนใบเตย บัวลอยใบเตย หยกมณี ตะโก้ห่อใบเตย ต้มถั่วเขียว ต้มถั่วแดง ต้มลูกเดือย และธัญพืชอื่น ๆ เป็นต้น หรืออาจจะใช้ใบเตยสดใส่ในน้ำกระทิเพื่อช่วยเพิ่มความหอมสำหรับขนมหวานต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน
  • ขนมอบ เช่น สาลี่ใบเตย ขนมเค้กใบเตย แยมโรลใบเตย คุกกี้ใบเตย เป็นต้น
  • อาหารคาวบางชนิด เช่น ไก่ห่อใบเตย ข้าวหุงกับใบเตย ข้าวต้มใบเตย ข้าวอบใบเตย และใช้เพื่อดับกลิ่นคาวในเลือดสัตว์ เป็นต้น
  • อาหารจำพวกของทอด เช่น ใช้ทอดรวมในน้ำมันเพื่อช่วยเพิ่มกลิ่นหอมใน กล้วยทอด มันทอด หมูทอด ไก่ทอด เห็ดทอด เป็นต้น
  • อาหารว่าง เช่น สาคูไส้หมูใบเตย ข้าวเกรียบปากหม้อใบเตย เป็นต้น
  • เครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น ชาใบเตย น้ำใบเตย (อาจใส่วุ้นมะพร้าว) น้ำพันซ์ใส่น้ำใบเตย และน้ำใบเตยผสมกับเครื่องดื่มสมุนไพรอื่น ๆ เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าใบเตยเป็นพืชที่มีประโยชน์หลายอย่าง และเป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่ควรจะมีปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย

 

สามารถติดตามบทความใหม่ ๆ ได้ที่ https://www.japin.co.th

สามารถติดตามกิจกรรมดี ๆ ได้ทาง
  Mr.Happii Mr.Happii

เรียบเรียงโดย bibomom

ที่มา

KRUA.CO

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

SGE

คมชัดลึก ออนไลน์