ภาวะสมองล้า แก้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เคยไหม? ที่บางครั้งรู้สึกมึน ๆ งง ๆ คิดไม่ออกว่า เมื่อตะกี้ตัวเองคิดอะไรอยู่ หรืออยากจะพูดอะไร แต่กลับหลงลืมไปเลย คิดยังไงก็คิดไม่ออก หรือไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้ หรืออาจมีความรู้สึกเพลีย ๆ และหมดไฟไปเลยก็มี และหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังมี “ภาวะสมองล้า” ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ในบทความนี้จาปินจะพาไปทำความรู้จักกับภาวะสมองล้าและแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยลดปัญหาที่มีต่อสุขภาพของทุกคนค่ะ 

ภาวะสมองล้า (Brain Fog) คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียน การทำงาน เข้าสังคม รวมถึงสุขภาพทั่วไป และคุณภาพการนอนหลับ หากปล่อยให้เป็นนานไป อาจเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ ได้ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์  ภาวะซึมเศร้า และรวมถึงพาร์กินสันในบางราย 

ภาวะสมองล้า สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งยังสามารถฟื้นฟูให้การทำงานของสมองกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นได้อีกเช่นกัน หากมีการรักษาไม่ตรงจุด หรือมีปัจจัยกระตุ้น และขาดการดูแลที่เหมาะสม 

อาการภาวะสมองล้า

โดยทั่วไปมักมีลักษณะอาการคล้าย “อาการหมดไฟ” (Burnout Syndrome) แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ซึ่งหากสมองทำงานหนักเกินไป มักเกิดอาการ รู้สึกไม่ไหว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหมือนมีเมฆหมอกปกคลุมที่สมอง ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิ คิดช้าลง หรือหลง ๆ ลืม ๆ ได้ง่าย เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานสมองลดลง นอกจากนี้ ยังรวมถึงความเหนื่อยล้าทางจิตใจ อารมณ์แปรปรวน และมีภาวะความเครียดร่วมด้วย 

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองล้า

  • นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สดชื่น
  • ความเครียด ทำให้สมองต้องทำงานตลอดเวลา
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ร่างกายขาดน้ำ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (บางโรค) เช่น ไมเกรน ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น
  • มีอาการทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
  • ฮอร์โมนไม่สมดุล
  • ขาดสารอาหาร วิตามินในกลุ่มเอ ซี ดี บี 

และเนื่องจากสมองถูกใช้งานอย่างหนักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน บางคนอาจทำงานเยอะมาก บางคนทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน จึงทำให้สารสื่อประสาทปรับตัวไม่ทัน ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบสมองรวนได้ รวมทั้งสมองของคนเรานั้น “ในช่วงเวลานอน คือ ช่วงเวลาในการชาร์จแบต ชาร์จพลังงานให้ร่างกายและสมอง และมีการหลั่งของโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ถ้าคุณภาพการนอนไม่ได้ หรือไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อตื่นขึ้นมา ร่างกายจะไม่สดชื่น และสมองจะล้าได้ 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัย ยังระบุเพิ่มเติมว่า สุขภาพสมอง มีความสัมพันธ์กับความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และระดับสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย ที่เรารับมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งจากมลภาวะ อาหาร หรือ น้ำดื่ม เป็นต้น 

แนวทางแก้ไขและฟื้นฟูภาวะสมองล้า

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลให้สุขภาพสมองแข็งแรง ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองล้า หรือป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
  • บริหารจัดการความเครียดของตนเอง ฝึกรับมือกับความเครียดให้ได้ หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลาย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายครบ 5 หมู่ และเน้นอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง
  • การนั่งทำงานนาน ๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อให้เลือดไหลเวียน เช่น ลุก เดินไป-มา ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยานอนหลับ เพราะมีผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง 

แต่หากกรณีภาวะสมองล้า ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะฮอร์โมนขาดความสมดุล จุลินทรีย์ในลำไส้ขาดความสมดุล หรือมีสารพิษตกค้างในร่างกาย อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อน เพื่อการฟื้นฟูภาวะสมองล้าอย่างตรงจุด และรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

สามารถติดตามบทความใหม่ ๆ ได้ที่ https://www.japin.co.th

สามารถติดตามกิจกรรมดี ๆ ได้ทาง
  Mr.Happii Mr.Happii

เรียบเรียงโดย bibomom

ที่มา

มติชน ออนไลน์

Vitallife