สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เลือกบริโภคให้เหมาะต่อร่างกาย

“ความหวาน” เป็นรสชาติที่ติดปากและคุ้นลิ้นของผู้คนโดยทั่วไป ถึงแม้ว่าความหวานจากน้ำตาลมักก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ แต่การที่จะให้เลิกใช้น้ำตาลนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากน้ำตาลได้กลายสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้คนไปแล้ว ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นสารให้ความหวานเพื่อใช้ทดแทนน้ำตาล ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก โดยในบทความนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับสารให้ความหวานเหล่านั้น มาแนะนำให้ทราบกันดังนี้ค่ะ 

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

  • หญ้าหวาน (Stevia)

เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีแคลอรีต่ำซึ่งได้รับความนิยมมาก พืชชนิดนี้มีการปลูกไว้ใช้สำหรับสร้างรสชาติความหวานในอาหาร และถูกใช้เป็นยามานานหลายศตวรรษแล้วในอเมริกาใต้ สารประกอบหลัก ๆ ที่มีรสชาติหวานซึ่งพบได้ในใบหญ้าหวาน คือ สตีวิโอไซด์ (Stevioside) และรีบาวดิโอไซด์ เอ (Rebaudioside) ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200 เท่า นอกจากจะนำมาใช้ใส่ในเครื่องดื่มแล้ว ยังสามารถใช้ทดแทนน้ำตาลในอาหารที่ต้องผ่านความร้อนได้ด้วย จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก 

  • อิริทริทอล (Erythritol)

จัดอยู่ในกลุ่มของน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่เป็นสารให้ความหวานชนิดให้พลังงาน เมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายจะมีความหวานเป็น 70% ของน้ำตาลทราย มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ และให้พลังงาน 0.2 กิโลแคลอรีต่อกรัม การนำน้ำตาลอิริทริทอลมาใช้แทนน้ำตาลทรายในการปรุงรสหรือประกอบอาหารนั้น ร่างกายจะดูดซึมน้ำตาลชนิดนี้ได้ช้า และการตอบสนองต่ออินซูลินจะไม่ถูกกระตุ้นอย่างรวดเร็วเหมือนกับน้ำตาลทราย ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก 

เนื่องจากน้ำตาลชนิดนี้จะไม่ถูกดูดซึมที่กระเพาะอาหาร แต่จะดูดซึมที่ลำไส้เล็กบางส่วน และแบคทีเรียที่ลำไส้ใหญ่จะแปรสภาพน้ำตาลชนิดนี้โดยก่อให้เกิดแก๊สในกระบวนการดังกล่าว หากบริโภคในปริมาณมากจะเกิดแก๊สสะสม ทำให้แน่นท้อง ท้องอืด และอาจส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายทำให้ท้องเสียได้ 

  • ไซลิทอล (Xylitol)

จัดเป็นสารให้ความหวานซึ่งเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ ให้พลังงาน 2.4 แคลอรีต่อกรัม เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติ มักพบได้ในพืชผักและผลไม้หลายชนิด  มีประโยชน์ต่อสุขภาพฟัน ลดอาการเสี่ยวฟันและฟันผุ มักนิยมนำไปใช้เป็นสารให้ความหวานในหมากฝรั่งและลูกอม ไซลิทอลไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากบริโภคในปริมาณมากก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ 

  • น้ำเชื่อมบัวหิมะ (Yacon Syrup)

จัดเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีความพิเศษ ซึ่งสกัดได้จากต้นเสวี่ยเหลียนกว่อ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บัวหิมะ” เป็นสารให้ความหวานที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง และมักถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารควบคุมลดน้ำหนัก เป็นความหวานที่ไม่เพิ่มแคลอรีให้กับร่างกาย แต่มีปริมาณฟรุกโตลิโกซัคคาไรด์ (Fructooligosaccharides) สูงมาก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ช่วยดูดซับแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ได้ 

  • ซูคราโลส (Sucralose)

เป็นสารให้ความหวานที่ไม่มีพลังงาน โดยให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า มีความปลอดภัยสูง เพราะไม่มีสารสะสมในร่างกาย ไม่มีรสขมติดลิ้น และสามารถใช้ปรุงอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงได้ แต่สารชนิดนี้ทำให้กระเพาะไวต่อสิ่งกระตุ้น อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในผู้บริโภคบางรายได้ 

  • แอสพาร์แตม (Aspartame)

เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 180-200 เท่า มีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทราย ไม่ทำให้เกิดภาวะฟันผุ และไม่กระตุ้นน้ำตาลในเลือดให้สูง แต่สารชนิดนี้จะสลายตัวในอุณหภูมิที่สูง หากบริโภคในระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีภาวะมึนงง ซึมเศร้า นอนไม่หลับได้ และห้ามใช้สารชนิดนี้ในผู้ป่วยสภาวะฟินิลคีโตนูเรีย 

  • แซคคารีน (Saccharin)

เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200-700 เท่า มีรสชาติหวานแต่แคลอรีต่ำมาก แต่หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้มีรสขม และหากบริโภคต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ ในปริมาณสูง คือวันหนึ่งประมาณ 6 ครั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีอยู่มากมายหลายชนิด ดังนั้นควรเลือกบริโภคให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนนะคะ

 

สามารถติดตามบทความใหม่ ๆ ได้ที่ https://www.japin.co.th

สามารถติดตามกิจกรรมดี ๆ ได้ทาง
  Mr.Happii Mr.Happii

เรียบเรียงโดย bibomom

ที่มา

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

สถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข

Efoodchoice

Gourmetandcuisine

Food Wiki