จอดรถอย่างไรให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงอันตราย
ในการขับขี่รถยนต์นั้น นอกจากการขับขี่บนท้องถนนแล้ว การจอดรถก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการจอดรถที่ดีจะช่วยป้องกันภัยต่าง ๆ ทั้งภัยโจรกรรม ภัยจากการมีของหล่นจากที่สูงหล่นมาใส่หลังคารถ ภัยจากการถูกชนท้าย หรือเสยไฟหน้า และภัยอื่น ๆ และในบทความนี้จาปินมีข้อมูลคำแนะนำเทคนิคการจอดรถให้ปลอดภัย เพื่อสร้างวินัยให้กับผู้ขับขี่และช่วยลดความเสี่ยงจากอันตราย ซึ่งคนมีรถทุกคนควรระวังและตระหนักไว้ค่ะ
เทคนิคการจอดรถให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงอันตราย
- จอดรถเข้าซองปลอดภัยเสมอ
การจอดรถในพื้นที่ที่จัดไว้ให้จอด หรือที่เรียกกันง่าย ๆ กันว่า “จอดรถเข้าซอง” จัดว่าเป็นเทคนิคจอดรถที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากทางอาคารสถานที่นั้น ๆ ได้จัดทำเลที่เหมาะสม และไม่มีสิ่งกีดขวางใด ๆ ในที่จอดรถ เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงแรม ศูนย์การค้า เป็นต้น ซึ่งหากสามารถจอดรถในซองโดยไม่ล้ำเส้นที่ตีเอาไว้ รถของเราก็จะมีความปลอดภัยมากกว่าจอดที่อื่น
- จอดรถห่างไกลอุปกรณ์ติดไฟ หรือวัตถุไวไฟ และเครื่องจักรทุกชนิด
บางกรณีการจอดรถในที่จอดรถก็อาจจะไม่ปลอดภัยเสมอไป หากมุมที่จอดนั้นอยู่ใกล้กับจุดซ่อมแซม หรือกำลังก่อสร้าง มีสายไฟระโยงระยางเต็มไปหมด รวมถึงหากมีถังน้ำมัน วัตถุไวไฟ หรือเครื่องจักรที่กำลังทำงาน อาจจะทำให้เสี่ยงเกิดการระเบิด หรือเกิดเพลิงไหม้รถยนต์ได้ ดังนั้น ควรจอดรถให้ห่างไกลจากบริเวณนั้นจะดีที่สุด
- ปลดเกียร์ว่างเมื่อจอดซ้อนคัน
สำหรับรถยนต์ที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ กรณีจอดซ้อนคัน ต้องปลดเกียร์ว่างเสมอ เพื่อให้สามารถเข็นรถได้สะดวก ย้ายรถเข้า-ออกได้ง่าย และมารยาทของการจอดซ้อนคัน ต้องไม่จอดเบียดจนทำให้รถเสียหาย และควรพับกระจกมองข้างด้วยหากจอดริมถนนที่รถจักรยานยนต์พลุกพล่าน
- จอดรถในที่ร่ม ให้พิจารณาดูก่อนว่าอาจจะมีอะไรตกใส่รถหรือไม่
การจอดในที่ร่มแม้ดูเหมือนว่าจะปลอดภัย แต่หากด้านบนเหนือรถมีสิ่งของแขวนอยู่ หรือมีต้นไม้ กิ่งไม้ที่มีทีท่าว่าใกล้จะหัก ต้องรีบย้ายรถออกจากบริเวณนั้น เพราะอาจมีกระแสลมพัดแรงทำกิ่งไม้หักหล่นลงมาทับรถจนได้รับความเสียหาย
- จอดรถในที่กลางแจ้ง ดีกว่าในที่ลับตาคน
การจอดรถในที่แจ้งมีความปลอดภัยมากกว่าในที่ลับตาคน เพราะในที่ลับตามีโอกาสที่เกิดเหตุโจรกรรมมากกว่ารถที่อยู่ในที่ผู้คนพลุกพล่านและมองเห็นง่าย และควรเก็บของมีค่าไว้ในท้ายกระโปรงหลัง หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ควรหาอะไรมาปกปิดเพื่อไม่ให้ดูเป็นที่น่าสังเกต เช่น กระเป๋า รองเท้า แบรนด์เนมต่าง ๆ หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- ไม่จอดรถเหนือท่อระบายน้ำ ป้องกันหนูกัดสายไฟ และงูเลื้อยเข้าใต้ท้องรถ
หากต้องจอดรถทิ้งไว้นาน ๆ หรือข้ามคืน ต้องหลีกเลี่ยงการจอดรถเหนือท่อระบายน้ำ เพราะอาจจะมีหนูท่อขึ้นมากัดสายไฟใต้ห้องเครื่องขาดหรือได้รับความเสียหายได้ และอาจมีงูเลื้อยเข้าอยู่ใต้ท้องรถด้วย
- ไม่จอดรถบนทางโค้ง หรือทางลาดชัน
หากยังเหลือพื้นที่ดี ๆ ให้จอดรถได้อยู่ ก็ไม่ควรจอดในทางโค้งหรือทางลาดชัน เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจากคันหน้าหรือคันหลังไหลเข้ามาชนจนเกิดความเสียหายได้ รวมถึงเป็นจุดเสี่ยงอื่น ๆ ที่รถมีโอกาสได้รับแรงสะเทือนจากรถคันที่วิ่งผ่าน จนทำให้รถเกิดการไหลได้เช่นกัน
- ไม่จอดรถขวางประตูบ้าน หน้าบ้านคนอื่น หรือพื้นที่ห้ามจอด
การจอดรถขวางทางประตูหน้าบ้านคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเจ้าของบ้านอาจมีรถเข้า-ออกา บางบ้านอาจไม่ได้ติดป้ายห้ามจอดไว้ แต่โดยมารยาทแล้วไม่ควรจอดรถขวางทางเข้า-ออก ทั้งหน้าบ้าน หน้าตรอก หน้าซอย
- ไม่จอดรถใกล้ตลิ่ง
ริมตลิ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความแข็งแรง ไม่มั่นคง ถึงแม้ว่าบางที่อาจจะมีไม้กั้นไว้ แต่หากเกิดเหตุรถคันอื่นไหลมาชน หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ก็อาจทำให้รถที่จอดอยู่ไหลตกคูน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรจอดให้ห่างบริเวณดังกล่าว เพื่อความปลอดภัย
- เว้นระยะห่างให้รถคันอื่น เพื่อให้มีพื้นที่ในการเคลื่อนตัวออก
การจอดไม่ว่าจะบริเวณใดก็ตาม ต้องเว้นระยะห่าง เว้นช่องไว้ให้รถคันอื่นได้เคลื่อนตัวออกง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจอดรถเข้าซอง จอดที่ลานจอดรถทั่วไป หรือจอดริมถนน ต้องเหลือพื้นที่ให้รถคันอื่นได้ผ่านเข้าออกได้อย่างน้อย 1 ช่วงคันรถ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการสัญจรของผู้อื่น
ความปลอดภัยของตัวเราเองและทรัพย์สินเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น แนะนำให้ลองนำไปปฏิบัติ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ!!
สนับสนุนข้อมูลความรู้โดยเครื่องผลิตน้ำดื่มอัจฉริยะรุ่นไอวอเตอร์ (iWater) และไอมินิ (iMini) ที่ให้คุณได้มากกว่าคำว่าน้ำดื่มที่สะอาด เพราะน้ำดื่มไอวอเตอร์เป็นน้ำกลุ่มโมเลกุลเล็ก สะอาด ปราศจากเชื้อโรคและแบคทีเรีย คงไว้ซึ่งแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระบบจากองค์กรอนามัยแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NSF) อย่าลืม!! ดื่มน้ำสะอาดให้ได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการวันละ 6-8 แก้ว (1.5-2 ลิตร) จะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หมายเหตุ: ติดตามบทความใหม่ ๆ ได้ที่ http://www.japin.co.th
เรียบเรียงโดย : bibomom
ที่มา
Blog TQM
Sanook